“ก้าวต่อไปของช้างไทย”

 

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้ร่วมจัดการประชุมช้างแห่งชาติ ครั้งที่ 5
ณ อาคารกัลยานิวัฒนาการุณย์ สถาบันคชบาลแห่งชาติ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่
2 – 3 สิงหาคม พ.ศ. 2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงาน งานวิจัยเรื่องช้างในหลากหลายมิติ เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดและสถานการณ์ช้างที่เกิดขึ้นในรอบปีระหว่างนักวิชาการและบุคลากรในวงการช้าง รวมไปถึงเพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆในการร่วมกันปกป้อง และอนุรักษ์ช้าง ซึ่งภายในงานประชุมช้างแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2561 ได้รับเกียรติจาก พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานประชุม

ทั้งนี้ ภายในงานได้จัดให้มีการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่องช้างในหลากหลายมิติ พร้อมจัดให้มีเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิด และสถานการณ์ช้างที่เกิดขึ้นในรอบปี ระหว่างนักวิชาการและบุคลากรในวงการช้างอันจะก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ในการป้องกันและอนุรักษ์ช้างจำนวนมาก ดังนี้

เสวนาเรื่อง “แผนแม่บทและกฏหมายช้างไทย” โดย  รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี  รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช คุณวรฉัตร วิรัชลาภ นิติกรอาวุโสจากกรมปศุสัตว์ และน.สพ.ทวีโภค อังควานิช จากสถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ โดยการให้ข้อคิดเห็นเรื่องแผนแม่บทอนุรักษ์ช้างแห่งชาติ 20 ปี แผนแม่บทอนุรักษ์ช้างป่า 20 ปี และ ร่างพระราชบัญญัติช้างไทย ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการซึ่งเป็นการมองภาพช้างไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า

เสวนาเรื่อง ความร่วมมือในการอนุรักษ์ช้างไทย โดย  น.สพ.ดร.บริพัฒน์ ศิริอรุณรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และวิจัยองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์  ผศ.น.สพ.ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  คุณธีรภัทร ตรังปราการ ประธานชมรมปางช้างเชียงใหม่ และสพ.ญ.วรางคณา ลังการ์พินธุ์ จากสถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ โดยการเสวนาเรื่องความร่วมมือในอดีต ปัจจุบัน และ อนาคต ในการอนุรักษ์และช่วยเหลือช้าง

เสวนาเรื่อง การอนุรักษ์ช้างภาคเอกชน โดย  คุณกมลพรรณ ตานุ จากปางช้างบ้านช้าง คุณจักรภพ แถวทัศน์ พังงา
เอเลเฟ่นปาร์ค คุณอลงกต ชูแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (ประเทศไทย) และรศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเป็นเรื่องราวและมุมมองจากภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ช้างทางด้านต่างๆ

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานด้านวิชาการที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภายในรอบปีที่ผ่าน อาทิเช่น

การฟื้นฟูด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัดในสัตว์ป่วย โดย  ผศ.กภ.ศิริพันธุ์ คงสวัสดิ์  คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การฝังเข็มเพื่อการรักษาในช้าง  โดย  ผศ.น.สพ.ดร.วีรพงศ์ ตั้งจิตเจริญ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ประสบการณ์การนำความรู้ทางวิศวกรรมเพื่อการรักษาช้าง โดย  คุณนรเศรษฐ์ บานนิกุล  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พร้อมทั้งยังมีการนำเสนอข้อมูลที่เป็นความรู้ และสาระที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลการสำรวจโรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในลูกช้างป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ประชากรและโครงสร้างอายุของช้างป่าในกลุ่มป่า  ตะวันออก “ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด”  และการเคลื่อนย้ายช้างป่า

ซึ่งในงานประชุมดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทำให้มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้นจำนวน 250 คน จากทั้งภาครัฐและเอกชน ทางคณะผู้จัดงานต้องขอขอบคุณ มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ , มูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง , บริษัท เอเลเฟนท์ ฮิลส์ จำกัด , บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)  , บริษัท เอ.พี.เทค จำกัด บริษัท ดีเคเอสเอช ประเทศไทย และ บริษัท โกสินทร์เวชภัณฑ์ จำกัด ที่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีทำให้งานนี้สามารถประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี