การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ

เรื่อง “ การจัดการผสมพันธุ์และสุขภาพช้างเลี้ยงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Asian Elephant Breeding and Health Management in South East Asia)

ระหว่างวันที่ 24-28 พฤษภาคม 2553

 

          ในปัจจุบันจำนวนประชากรช้างเอเชีย ทั้งที่เป็นช้างเลี้ยงและช้างป่าได้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มจำนวนประชากรช้างเอเชียมากที่สุดในโลก ดังนั้นจึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องมีการศึกษาและวิจัย รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ นวัตกรรมใหม่ ๆ ระหว่างประเทศ เพิ่อช่วยพัฒนาการดูแลสุขภาพและการจัดการทางด้านระบบสืบพันธุ์ให้มีประสิทธฺภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สามารถคงจำนวนหรือเพิ่มจำนวนประชากรช้างเอเชียในระยะยาวได้อย่างเหมาะสม

          คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสถาบันคชบาลแห่งชาติ, มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ และคณะสัตวแพทยศาสตร์จาก 4 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, University of  Peradeniya ประเทศศรีลังกา, Utrecht University ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ The Royal Veterinary College ประเทศอังกฤษ ได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการนานาชาติ อันเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการความร่วมมือของ EUROPE AID และ EU-Asia Link Elephant Project ในหัวข้อเรื่อง การจัดการผสมพันธุ์และสุขภาพช้างเลี้ยงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Asian Elephant Breeding and Health Management in South East Asia) ระหว่างวันที่ 24-28 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, โรงพยาบาลช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จ.ลำปาง โดยมีรองศาสตราจารย์ นายแพทย์วัชระ รุจิเวชพงศธร รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทั่วไปและทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยเชียงใหม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี

          การฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการนานาชาติครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสัตวแพทย์และบุคคลากรที่เกี่ยวข้องมากมายจากหลากหลายประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรมจากประเทศไทย 9 ท่าน และจากต่างประเทศ 11 ท่าน โดยในระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งหมด 5 วันนี้ ประกอบด้วยภาคบรรยายและภาคปฎิบัติการ ซึ่งเน้นในหัวข้อเรื่องการจัดการด้านสุขภาพ อาทิเช่น การตรวจร่างกาย, การวินิจฉัยโรค, การเผ้าระวังโรค, การรักษา และด้านการจัดการระบบสืบพันธุ์ ทั้งช้างเพศผู้และเพศเมีย อาทิเช่น การรีดน้ำเชื้อช้างเพศผู้, การหาวงรอบการเป็นสัดของช้างเพศเมียโดยการดูพฤติกรรมและการตรวจระดับฮอร์โมน และรวมถึงแนวคิดในการคืนช้างสู่ธรรมชาติเพื่อการอนุรักษ์ช้างไทยอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต