กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แถลงถึงความสำเร็จของโครงการวิจัยเรื่อง “การแยกชนิดงาช้างเอเชียและแอฟริกาโดยไม่ทำลายตัวอย่างด้วยเครื่องเอกซ์เรย์ฟลูออเรสเซนซ์ชนิดพกพก”โดยนายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า กรมอุทยานฯ ได้ร่วมกับคณะสัตวแพทศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำตัวอย่างงาช้างแอฟริกาที่คดีสิ้นสุดแล้วในการศึกษาวิจัยจนประสบความสำเร็จในการใช้เครื่องมือตรวจคัดแยกงาช้างเอเชียกับแอฟริกาด้วยเครื่องเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งเป็นวิธีการตรวจงาช้างโดยไม่ต้องทำลาย และใช้ระยะเวลาในตรวจไม่เกิน 10 นาที ก็จะทราบผลว่างาช้างหรือเครื่องประดับหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างนั้น ทำมาจากงาช้างเอเชียหรือแอฟริกา และเป็นงาช้างจริงหรือไม่ ขณะที่วิธีการตรวจสอบงาช้างที่ทำอยู่ปัจจุบันต้องทำโดยตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอด้วยการขูดหรือตัดงาช้างไปบดเพื่อตรวจสอบ ทำให้งาช้างหรือผลิตภัณฑ์งาช้างที่มีมูลค่าสูงเกิดตำหนิเสียหายได้ และต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์ การตรวจวิธีใหม่นี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการตวจสอบงาช้างของผู้ที่นำมาจดทะเบียน ตลอดจนตรวจสอบร้านค้าที่ขายผลิตภัณฑ์งาช้าง เพื่อเป็นการกำกับดูแลและควบคุมการค้างาช้างภายในประเทศไทยให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถือเป็นความภูมิใจของนักวิจัยไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในโลก