เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ณ หอประชุมอาคารกัลยาณิวัฒนาการุณย์ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง นายภพปภพ ลรรพรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ พร้อมคณะสัตวแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แถลงผลสำเร็จในการช่วยชีวิต “พลายบุญภัคร” อายุ 25 ปี เป็นช้างงายาวจากปางช้างใน จ.เชียงใหม่ ถูกส่งมารักษาที่โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

การรักษาเริ่มจาก วันที่ 18 กันยายน 2560 ช้่างมีอาการสำรอกอาหาร ตั้งแต่เวลา 8.30 น. ได้รับการรักษาเบื้องต้นแต่ไม่ดีขึ้น ทางฟาร์มช้างภัทรตัดสินใจส่งตัวและเดินทางถึงโรงพยาบาลในเวลา 17.00 น. จากอาการเบื้องต้นทางทีมสัตวแพทย์เล็งเห็นว่าต้องวางยาสลบเพื่อตรวจโดยละเอียด มีเวลาเพียง 48 ชั่วโมงในการเตรียมอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง จากหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงการเตรียมตัวสัตว์ก่อนการวางยาสลบครั้งที่ 1

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2560 วางยาสลบครั้งที่ 2 นำเครื่องส่องตรวจกระเพาะอาหารและหลอดลมที่มีความยาว 1.5 เมตร พบเศษอาหารอุดตันในหลอดอาหารและสามารถนำออกมาได้เพียงบางส่วน ช้างยังไม่สามารถกลืนอาหารและน้ำได้ จึงเกิดการปรับแต่งเครื่องส่องตรวจกระเพาะอาหารครั้งที่ 1

ต่อมาวันที่ 26 กันยายน 2560 วางยาสลบครั้งที่ 2 นำเครื่องส่องตรวจกระเพาะอาหารและหลอดลมที่มีความยาว 3 เมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งใช้เวลาประดิษฐ์เครื่องมือที่มีขนาดและความยาวที่เหมาะสม มีความแข็งแรง ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งก็ยังไม่สามารถนำเศษอาหารออกมาได้หมด

ต่อมาวันที่ 3 ตุลาคม 2560 วางยาสลบครั้งที่ 3 ใช้โปรไบโอติกเพื่อช่วยย่อยสลายเศษอาหารที่อุดตัน และใช้ยาดมสลบ มีการติดตามสัญญาณชีพตลอดเวลาที่ทำการวางยาสลบ พบสิ่งอุดตันที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไป จำต้องมีการปรับอุปกรณ์เพื่อให้เหมาะสม การให้พลาสม่าเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายและระดับโปรตีนในกระแสเลือด

และเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2560 วางยาสลบครั้งที่ 4 ใช้การบำบัดด้วยเลเซอร์และอัลตราซาวด์ เพื่อลดอาการบวมที่เกิดขึ้นจากการลงนอนเป็นระยะเวลานานในการวางยาสลบครั้งที่ 3 และสามารถดัดแปลงอุปกรณ์เพื่อคีบเศษอาหารให้สามารถหลุดออกมาได้สำเร็จ

ตลอดระยะเวลาการรักษาทั้งสิ้น 19 วัน พลายบุญภัครได้รับการดูแลสุขภาพและเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการวางยาสลบในแต่ละครั้งด้วยการให้สารน้ำ สารอาหาร และยา ผ่านทางเส้นเลือดดำและทวารหนัก

ทั้งนี้พลายบุญภัครเป็นช้างเชือกแรกในประเทศไทยที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายพลาสมาซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเลือด เพื่อเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายและระดับโปรตีนในกระแสเลือด โดยพลาสมานั้นได้รับบริจาคมาจากช้างที่มีสุขภาพแข็งแรงของสถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และผ่านการตรวจสอบการเข้ากันได้ของเลือดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จากการร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆ โรงพยาบาลช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้รับการอนุเคราะห์เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงบุคลากรของหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษา ทั้งจากองค์การสวนสัตว์ในพระบรม-ราชูปถัมภ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และฟาร์มช้างภัทร อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
พลายบุญภัครมีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ จากการพักฟื้นร่างกาย การบำบัดด้วยเลเซอร์ การนวดด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ และการปรับระบบการให้อาหารโดยเริ่มกินอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย จนกระทั่งสามารถกินอาหารได้ตามปกติ ปัจจุบันพลายบุญภัครมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นและคาดว่าจะสามารถกลับบ้านได้ในเวลาอันใกล้นี้
ขอขอบคุณหน่วยงานต่างๆที่ให้การสนับสนุน
สำนักพระราชวัง
สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ธนาคารเลือด โรงพยาบาลลำปาง
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขาอำเภอห้างฉัตร
ฟาร์มช้างภัทร
มูลนิธิเพื่อนช้าง
มูลนิธิ โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล เอเชียนเอเลเฟนท์
คลินิกปางช้างแม่แตง
ปางช้างแม่สา
โรงพยาบาลสัตว์ pet lover
บริษัท โกสินทร์เวชภัณฑ์ จำกัด
บริษัท เมิร์จ คอมพาเนี่ยน (ประเทศไทย) จำกัด